เบาหวาน เป็นโรคที่หลายคนกังวล เพราะคิดว่าคงจะไม่สามารถกินของอร่อยได้เหมือนเดิม ชีวิตคงจะหาความสุขไม่ได้ แต่ความจริงแล้วเขายังคงมีความสุขได้เหมือนคนทั่วไป ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องโรค และมีวินัยในการดูแลตนเอง
ถ้าพูดในเชิงกลไกการเกิดโรค เบาหวานเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของตับอ่อน ทำให้ผลิตตัวเก็บน้ำตาลที่เรียกว่า อินซูลิน ออกมาน้อยกว่าปกติ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ตับอ่อนยังคงทำงานปกติดีแต่อินซูลินลดความสามารถที่จะชักนำให้น้ำตาลผ่านเข้าเซลล์ได้ ถึงตอนนี้ถ้าผู้ป่วยยังคงมีพฤติกรรมแบบเดิม ๆ คือ ไม่ควบคุมอาหารการกิน ละเลยไม่กินยาตามแพทย์สั่ง เจ้าน้ำตาลตัวร้ายก็ยังคงวนเวียนอยู่ในกระแสเลือดเพราะไม่สามารถเข้าเซลล์ได้ เมื่อเซลล์ไม่ได้รับน้ำตาลเป็นเวลานาน ร่างกายขาดพลังงาน ในที่สุดก็จะสลายไขมันออกไปใช้แทน และในกระบวนการสลายไขมันนั้น จะเกิดสารที่ชื่อว่าคีโตนในกระแสเลือดซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย
หลายคนมักจะคิดว่าแม้น้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่เห็นจะมีอาการอะไร ร่างกายก็ปกติดี จึงไม่เห็นความสำคัญของการควบคุมระดับน้ำตาล แต่ความจริงแล้วโรคนี้คือ ภัยเงียบ อย่างที่หมอเคยบอกกับคนไข้บ่อย ๆ ว่าการปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงนาน ๆ เป็นอันตราย มีผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ การเสื่อมของหลอดเลือดในร่างกาย เบาหวานขึ้นตา การเสื่อมของหลอดเลือดที่ไตนำไปสู่โรคไตวายเรื้อรัง การเป็นแผลหายช้านำไปสู่การตัดขา นอกจากนี้ยังมีผลต่อหลอดเลือดสมองให้เกิดโรคอัมพฤกษ์/อัมพาต ความดันเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจตีบทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
จะเห็นว่าการเป็นโรคเบาหวาน คือ การบกพร่องของการควบคุมระดับน้ำตาลภายในร่างกาย ซึ่งการกินอาหารให้ถูกสัดส่วน ไม่มากเกินไปต่อความต้องการของร่างกาย เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ผู้ป่วยในระยะแรกมักจะไม่มีอาการทำให้ไม่ได้มาพบแพทย์ เสียโอกาสในการรักษาไป ดังนั้นเราจึงควรตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อจะได้รับการรักษาทันท่วงที และเกิดประโยชน์สูงสุดค่ะ
พญ.จารุมน ผลงาม
แพทย์ประจำเฮลท์แคร์คลินิกเวชกรรม
Comments